การปลูกไผ่เลี้ยงหวานเพื่อการค้าในปัจจุบันมีมากมายทั่วทุกภาคของประเทศ แต่การจัดการให้ได้คุณภาพและมีหน่อออกตลอดทั้งปีนั้น ยังมีคนที่ทำประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ผลผลิตจะออกน้อย ยิ่งปลูกเอง ขายเอง แปรรูปเอง ยิ่งไม่ค่อยมีเลย คุณบารมี วรานนท์วนิช?เจ้าของสวนไผ่บารมี เลขที่ 24/2 ม.4 ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี โทร.??? 0860313173 เป็นคนหนึ่งที่ทำสวนไผ่เลี้ยงหวาน และสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อปลูกไผ่เลี้ยงหวาน พร้อมกับรับซื้อ แปรรูปและทำตลาดโดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ไม่ต้องวิ่งหาตลาดส่ง คุณบารมี เล่าว่าได้มาอยู่ที่นี่เมื่อปี 2519 เริ่มต้นเป็นเกษตรกรด้วยการปลูกส้ม เมื่อปี 2544 ส้มได้ล้มสลายไป ไม่สามารถทำต่อได้ จึงเปลี่ยนไปปลูกกล้วยและเป็นพ่อค้ารับซื้อกล้วยจนถึงปี 2548 ซึ่งขณะนั้นเริ่มคิดว่าน่าจะปลูกพืชที่มีความยั่งยืนมากกว่ากล้วย เพราะกล้วยมีอายุสั้น ไม่ต้องการปลูกพืชตามกลไกตลาด เพราะมีโอกาสพลาดได้สูงและไม่ประสบความสำเร็จได้ จึงได้หันมาปลูกไผ่เลี้ยงหวานจำนวน 30 ไร่ ซึ่งตอนนั้นมีคนปลูกไผ่ประมาณ 70 กว่าราย พื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ในปี 2550 เกษตรกรล้มเลิกการปลูกไผ่ไปเหลืออยู่คนเดียวคือคุณบารมี ซึ่งปัญหาที่พบตอนนั้น คือ ไผ่จะออกหน่อได้ 4 เดือนเท่านั้น อีก 8 เดือนไม่ออก หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาวิธีการจัดการและเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ไผ่มีความยั่งยืน ออกหน่อตลอดทั้งปี และไม่ออกดอกและทำได้สำเร็จ จึงได้ชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงสร้างเครือข่ายผู้ปลูกไผ่เลี้ยงหวานให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 20 ราย (อยู่ใน จ.ปทุมธานี และสระบุรี) ปลูกไผ่เลี้ยงหวานประมาณ 20,000 กอ แต่ที่สวนของตัวเองปลูกไผ่เลี้ยงหวานไว้ 5,000 กอ และมีโรงงานแปรรูปหน่อไม้เป็นของตัวเองไว้รองรับผลผลิตตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่หน่อออกมากในช่วงฤดูฝน (ก.ค.-ต.ค.) แปรรูปเก็บไว้เพื่อไม่ให้ล้นตลาดราคาถูก ต้องสร้างตลาดเองให้เกิดขึ้น ?ครบวงจร? ปลูกเอง ขายเอง ที่บ้าน ไม่ต้องไปรอส่งตลาดใหญ่ๆ แข่งกันขายราคาจะถูก กำหนดราคาได้เอง โดยการปลูกไผ่เป็นอาชีพที่มีความยั่งยืนเพราะไม่ต้องเปลี่ยนต้นตอบ่อยๆ ปลูกไปแล้ว 10 ปียังสามารถให้ผลผลิตได้ ซึ่งถ้าสามารถกำหนดได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก โดยความสำเร็จเกิดได้จากผู้ปลูกมีหน่อไม้ขายทั้งปี มีรายได้ต่อเนื่อง โรงงานแปรรูปมีการจ้างงานไม่ขาดสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อก็มีหน่อไม้ไปขายทั้งปี ไม่ต้องวิ่งหาหน่อไม้ตามตลาดอื่นๆ มีหน่อไม้ทุกวัน
คุณบารมี บอกว่า ไผ่เลี้ยงหวานจะไม่มีขนให้ระคายผิวเหมือนไผ่บางชนิด มีลำต้นไม่สูงมากนัก ไม่มีหนาม กิ่งแขนงน้อย ง่ายต่อการจัดการดูแล สามารถขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย ถ้าปลูกในพื้นที่น้ำขังต้องยกร่องเพื่อไม่ให้รากเน่า เพราะไผ่ไม่ชอบน้ำมาก ต้องวางระบบน้ำให้ทั่วทั้งสวนด้วยระบบสปริงเกลอร์จะเหมาะสมที่สุด ในหน้าแล้งต้องให้น้ำเป็นประจำ แต่ไม่ต้องให้น้ำมาก ถ้าน้ำท่วมขังไผ่จะตายภายใน 18 วัน น้ำจึงไม่ต้องให้มากแต่น้ำจะจำเป็นมากในการสลายปุ๋ยให้กับต้นไผ่ ซึ่งใช้เพียงเล็กน้อย
การปลูกไผ่เลี้ยงหวาน?ให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เมื่อได้รับความชื้นที่ดีจะทำให้ไผ่เจริญเติบโตได้ในทันที โตเร็ว ไม่หยุดชะงัก ใช้เหง้าในการปลูกจะให้ผลผลิตที่ดี สำหรับระยะปลูก ถ้าต้องการเก็บหน่อได้มากในช่วงแรกให้ปลูกไร่ละ 400 กอ จะให้หน่อมากในช่วง 2 ปีแรก และจะน้อยลงในปีต่อไป แต่ถ้าต้องการเก็บหน่อสม่ำเสมอในระยะยาวให้ปลูกไร่ละ 200 กอ เพราะต้นไผ่จะขยายกอได้เรื่อยๆ ในกอไผ่เลี้ยงหวานลำแต่ละลำจะห่างกัน 15-20 เซนติเมตร ทำให้กอไผ่โปร่ง ไว้กอละ 5-6 ลำเท่านั้น เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกันมากเกินไป การให้ปุ๋ย?สามารถเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใส่ปุ๋ยจะใส่ในปริมาณที่น้อยโดยใส่ 50 กิโลกรัม/ไผ่ 1,000 กอ แต่ให้ใส่ทุกๆ 7-10 วัน เนื่องจากหน่อไม้ไผ่มีการเจริญเติบโตตลอดเวลา ภายใน 48 ชั่วโมง หน่อไม้จะมีสูงเพิ่มขึ้นถึง 25 เซนติเมตร ดังนั้นจึงต้องให้ปุ๋ยสม่ำเสมอดังกล่าว ในช่วงฤดูฝนจะมีหน่อไม้ขึ้นมาก ทั้งหน่อไม้ที่ปลูกและหน่อไม้ป่า ราคาถูก ดังนั้นในช่วงนี้คือเดือน ก.ค.-ต.ค. จะไม่เร่งให้หน่อไม้ออกมามาก ลดการใส่ปุ๋ยลง ปล่อยลำไผ่มากขึ้น ไผ่จะออกหน่อได้น้อย ให้ต้นไผ่ได้สะสมอาหารให้สมบูรณ์ในช่วงนี้และค่อยไปเร่งการออกหน่อในปลายเดือนตุลาคม แต่ในช่วงนี้ก็ยังเก็บหน่อไม้ด้วยเช่นกัน นำมาบรรจุใส่ปี๊ปไว้ขายในช่วงที่ผลผลิตมีน้อย ราคาสูงกว่า เมื่อปลูกไปแล้ว 5-6 เดือนจะเริ่มให้ผลผลิตได้ และให้ผลผลิตมากในช่วงแรกจนถึง 2 ปี จากนั้นจะลดลงบ้างแต่จะสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ เก็บได้วันเว้นวัน การเก็บเกี่ยว เมื่อหน่อไม้ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ก็ตัดได้ ควรตัดหน่อไผ่ในตอนเช้า จะได้หน่อไม้ที่ไม่ขม ไม่ขื่น รสชาติดี ถูกใจผู้บริโภค ทั้งนี้หน่อไม้ขนาดเล็กก็สามารถเก็บได้เช่นกัน เพราะมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการหน่อขนาดเล็ก ซึ่งราคาจะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย สำหรับผลตอบแทนต่อไร่?ในพื้นที่ 1 ไร่ เก็บเกี่ยวได้อย่างน้อยครั้งละ 20-50 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 8 บาทขึ้นไป ในฤดูฝน แต่ถ้านอกฤดูฝนจะมีราคาซื้อขายที่กิโลกรัมละ 20 บาทเลยทีเดียว ปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการสูงเนื่องจากยังมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยโดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ยังไม่พอกับความต้องการในแต่ละวัน ใน 1 กอ จะให้ผลผลิตหน่อไม้ประมาณ 80 กิโลกรัม/ปี ซึ่งสมาชิกในกลุ่ม 20 ราย จะมีหน่อไม้ส่งให้กับโรงงานวันละไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม และในช่วงที่มีผลผลิตมากจะสูงถึงวันละ 2,000 กิโลกรัม การดูแลไผ่ให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น?คุณบารมีบอกว่า ให้เริ่มการจัดการดูแลในเดือนพฤศจิกายน เดือนนี้ให้เริ่มสางกอ ตัดลำแก่ ตัดกิ่งแขนงเล็กออก เอาของเสียเศษใบไม้ หรือกิ่งฉีกหักต่างๆ ออกจากกอไผ่ให้หมด ต่อมาในเดือนธันวาคม เริ่มใส่ปุ๋ยช่วยฟื้นฟูสภาพต้นให้สมบูรณ์พร้อมในการออก เดือนมกราคมหน่อจะเริ่มทยอยออกขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน การจัดการนี้เป็นการจัดการในช่วงนอกฤดูให้ได้ราคาขายที่สูง ไผ่เลี้ยงขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้าเพียงอย่างเดียว?จะใช้วิธีการตอนหรือปักชำไม่ได้ สังเกตได้ว่าเมื่อเราตัดหน่อไปแล้ว มันจะมีแขนงแตกออกมา 2 ง่าม เมื่อแม่แขนงมันแก่จะใช้เหล็กแทงเพื่อแยกเหง้าออกมาชำในถุงดำ วัสดุที่ใช้ชำเหง้าไผ่เลี้ยงจะใช้อัตราส่วนของหน้าดินต่อแกลบดำ = 1 : 1 และนำถุงชำมาวางไว้กลางแจ้ง มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอด้วยระบบน้ำสปริงเกลอร์ ไม่แนะนำให้นำเหง้าชำไปวางไว้ในที่ร่มมักจะตายในเวลาต่อมา ถุงชำเหง้าใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถุง 5-6 นิ้ว ชำไปนานประมาณ 2 เดือน นำมาปลูกหรือจำหน่ายได้ กิ่งพันธุ์ที่ใช้ได้ดีต้องไม่แก่เกิน 1.5 ปี หากแก่เกินไปโอกาสติดจะยาก
?สำหรับราคาขายผมจะรับประกันราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 6 บาท และเพิ่มขึ้นถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ตามผลผลิตรวมในแต่ละช่วง แต่ในขณะนี้รับซื้อในกิโลกรัมละ 8 บาท โดยจะซื้อมาดิบ นำมาคัดขนาดใหญ่เล็ก ตามความต้องการของลูกค้า นำมาต้มในน้ำร้อน 120 องศาเซลเซียส แล้วนำมาแช่น้ำเย็นเพื่อให้ปอกเปลือกออกได้ง่ายขึ้น เมื่อปอกเปลือกออกแล้วจากน้ำหนักหน่อไม้ดิบ 2 กิโลกรัม จะเหลือ 1 กิโลกรัม จะบรรจุใส่ถุงและรอลูกค้ามารับในเวลาสายๆ ไม่ต้องไปขายที่ตลาด จะมีลูกค้าประจำ??คุณบารมี กล่าว ปัจจุบันสวนไผ่บารมีได้ขยายพื้นที่ปลูกเป็น 2 แปลง โดยแปลงแรก 30 ไร่ ปลูกมานาน 10 ปี ส่วนอีกแปลงประมาณ 20 ไร่ ?อายุเข้าปีที่ 2 ทั้งสองแปลงถือว่ากำลังให้ผลผลิตเต็มที่ และผู้อ่านท่านใดที่ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกไผ่หรือติดต่อซื้อขายใดๆ ก็ให้ติดต่อตามที่อยู่และเบอร์โทร.ข้างต้นนะครับ.