มันสำปะหลังราคาตก! เกษตรกรเมืองน้ำขุ่น ปรับพื้นที่หันปลูกเงาะโรงเรียน ได้ผลดี สร้างรายได้เพิ่ม

October 9, 2017 No Comments »
มันสำปะหลังราคาตก! เกษตรกรเมืองน้ำขุ่น ปรับพื้นที่หันปลูกเงาะโรงเรียน ได้ผลดี สร้างรายได้เพิ่ม
Share Button

เงาะ?เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง พันธุ์ที่นิยมปลูกเชิงการค้า เช่น เงาะพันธุ์สีชมพู สีทองหรือพันธุ์โรงเรียน พื้นที่การปลูกมากอยู่ในบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย แต่ปัจจุบันพื้นที่ภาคอีสานใต้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สภาพพื้นที่ก็มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกได้ผลเงาะดีมีคุณภาพที่ตลาดต้องการ วันนี้จึงนำเรื่อง เงาะพันธุ์โรงเรียน?ผลไม้เศรษฐกิจคุณภาพจากเมืองน้ำขุ่น ถิ่นอีสานใต้ มาบอกเล่าสู่กัน

คุณเสน่ห์ ในจิตร เกษตรอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า เงาะพันธุ์โรงเรียน ที่เกษตรกรอำเภอน้ำขุ่นปลูกและผลิตได้มีคุณภาพดี เนื้อหนา ล่อน รสชาติหวานหอมอร่อยไม่แตกต่างกับเงาะที่ปลูกภาคตะวันออกและภาคใต้ เกษตรกรที่นี่ได้ไปนำเงาะพันธุ์โรงเรียนคุณภาพจากจังหวัดศรีสะเกษ มาปลูกที่นี่กว่า 10 ปีแล้ว เกษตรกรมีพัฒนาการปลูกและผลิตเรื่อยมากระทั่งได้ผลเงาะดีมีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการตลาดผู้บริโภค เงาะพันธุ์โรงเรียนจึงเป็นหนึ่งไม้ผลเศรษฐกิจของอำเภอน้ำขุ่นที่มีเกษตรกรนิยมปลูกกันแพร่หลาย ปัจจุบัน มีพื้นที่เงาะพันธุ์โรงเรียน 50 ไร่ เกษตรกรปลูก 15 ราย มีทั้งเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ เฉลี่ยเกษตรกรจะปลูกรายละ 1-3 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกในแบบสวนผสม

คุณเสน่ห์ ในจิตร เกษตรอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ส่งเสริมการปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน

ต้นเงาะ?เป็นไม้ผลยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิเหมาะสม อยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์สูง 75-85% ลักษณะดินปลูกที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างปานกลางหรือค่า pH 5.5-6.5 และที่สำคัญพื้นที่แปลงปลูกควรมีแหล่งน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำที่มีพอเพียงให้ใช้ได้ตลอดปี

ราก?ต้นเงาะมีระบบรากลึก 60-90 เซนติเมตร จากเหนือผิวดิน ต้นเงาะที่ได้รับผลกระทบกับสภาพแล้ง 21-30 วัน ช่วงก่อนออกดอก ถ้ามีการจัดการให้ได้รับน้ำอย่างเหมาะสม ต้นเงาะก็จะออกดอก ซึ่งช่วงพัฒนาการของดอกหรือผลิตดอกถึงดอกแรกเริ่มบาน 10-12 วัน ดอกเงาะจะเริ่มทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ 25-30 วัน ก็จะบานทั้งช่อ ดอกเงาะมี 2 ชนิด คือ ดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ต้นเงาะที่มีดอกตัวผู้จะไม่ติดผล ส่วนต้นเงาะที่มีดอกสมบูรณ์เพศแล้ว เกสรตัวผู้ไม่แข็งแรงก็จะไม่ติดผล อาจต้องฉีดพ่นฮอร์โมนพืชเพื่อช่วยให้เกสรตัวผู้แข็งแรงและได้ละอองเกสรตัวผู้เพิ่ม

ใส่ปุ๋ย ให้น้ำพอเพียง ต้นเงาะสมบูรณ์ก็ได้ผลเงาะคุณภาพ

การปฏิบัติดูแลรักษา ต้องให้ต้นเงาะได้รับปุ๋ยตรงตามสูตร อัตราส่วน และระยะเวลา ให้ได้รับน้ำพอเพียง ควบคุมป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผลเงาะดีมีคุณภาพ และส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกสามารถยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่พอเพียงและมั่นคง

คุณลุงนิรันดร์ กำลังดี เกษตรกรปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 30 ไร่ ส่วนหนึ่งจัดเป็นพื้นที่บ้านพักและโรงเรือนจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์การเกษตร จัดพื้นที่อีกส่วนหนึ่งปลูกมันสำปะหลัง 30 ไร่ ปีที่แล้วได้ผลผลิตมันเฉลี่ย 7 ตัน ต่อไร่ หรือได้ผลผลิตเฉลี่ย 220 ตัน ทำให้มีรายได้พอยังชีพ

คุณลุงนิรันดร์ กำลังดี เกษตรกรปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน

และได้จัดการปรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่งมาปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ปลูกได้กว่า 40 ต้น เพื่อให้เป็นพืชเสริมรายได้ โดยเริ่มปลูกมาตั้งแต่ ปี 2549 ถึงเวลานี้ก็ปลูกมาได้กว่า 10 ปีแล้ว

จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกมันสำปะหลัง

การเตรียมพันธุ์เงาะ ได้รวมกับเพื่อนเกษตรกรไปซื้อกิ่งพันธุ์เงาะพันธุ์โรงเรียนจากกลุ่มเครือข่าย เพื่อนหรือพี่

เกษตรกรที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งพันธุ์เงาะคุณภาพปลอดภัยจากโรค ขนาดกิ่งพันธุ์มีความสูง 80 เซนติเมตร ขึ้นไป กิ่งพันธุ์เงาะพันธุ์โรงเรียน ซื้อมาในราคากิ่งละ 35 บาท แล้วนำมาปลูกในช่วงต้นฤดูฝนช

การเตรียมดิน เนื่องจากเป็นการจัดการแบ่งพื้นที่ส่วนที่เคยปลูกมันสำปะหลัง การเตรียมดินจึงง่าย เพียงไถพรวน เก็บวัชพืชออกให้หมด ปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน จัดระยะปลูกระหว่างต้นและแถวต้นเงาะห่างกัน 6?6 เมตร

จัดแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำพอเพียงใช้ในสวนเงาะ

หลุมปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกแล้วได้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกแห้ง 2-4 กิโลกรัม หรือราว 2 พลั่ว ต่อหลุม คลุกเคล้ากับดินบนให้ทั่วกัน นำกิ่งพันธุ์เงาะพันธุ์โรงเรียนลงปลูก ปักไม้ค้ำยันให้แน่นแล้วผูกกับกิ่งพันธุ์เพื่อป้องกันการโค่นล้ม เกลี่ยดินกลบ ให้น้ำแต่พอชุ่ม

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา หลังจากปลูก 30-45 วัน ได้ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบต้นเงาะ จากนั้นอีก 60 วัน ได้ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบต้นเงาะ แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม

เมื่อต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนอายุ 1 ปี ได้นำปุ๋ย สูตร 15-15-15 ใส่โรยหว่านรอบทรงพุ่ม 2-3 กำมือ ต่อต้น ต้นเงาะอายุ 2 ปี และ 3 ปี ได้นำปุ๋ย สูตร 15-15-15 ใส่โรยหว่านรอบทรงพุ่ม 2-3 กำมือ ต่อต้น โดยแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ต่อปี ในช่วงปีที่ 3 นี้ต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนเริ่มติดดอกออกผลบ้างแล้ว พอมีผลเงาะให้เก็บไปกินไปขายบ้างไม่มาก

แต่เมื่อต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนเข้าสู่ปีที่ 4 จะเป็นช่วงที่เริ่มให้ผลผลิตมาก ก่อนเริ่มติดดอกได้บำรุงต้นด้วยการนำปุ๋ย สูตร 15-15-15 มาใส่ ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ใส่ครั้งที่ 2 เว้นระยะห่างจากครั้งแรก 45-60 วัน หลังจากใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำแต่พอชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลายลงดิน รากจะดึงปุ๋ยไปใช้ได้ง่ายและช่วยให้ต้นเงาะเจริญเติบโตสมบูรณ์

คุณลุงนิรันดร์ เกษตรกรปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ที่สำคัญต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนต้องได้รับน้ำอย่างพอเพียงสม่ำเสมอ มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสม จึงจะทำให้ได้ผลเงาะดีมีคุณภาพ เมื่อปี 2559 เก็บเกี่ยวผลเงาะได้ 45-50 กิโลกรัม ต่อต้น หรือได้ผลผลิตราว 35 ตัน นำขายส่ง 25-30 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับปี 2560 นี้ คาดว่าจะได้ผลเงาะเท่าเดิมหรือมากกว่า หรือ 35-36 ตัน เพราะสภาพภูมิอากาศดีเป็นใจ ถ้าเศรษฐกิจดี ผู้ซื้อมีกำลังซื้อดี ก็อาจจะขายส่งผลเงาะดีมีคุณภาพได้ 25-35 บาท ต่อกิโลกรัม

คุณลุงนิรันดร์ กำลังดี เกษตรกรปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน

การตัดสินใจปรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่งมาปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความสำเร็จนี้นั้นเพราะได้รับการสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการ หรือการปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา จากสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำขุ่น สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด หรือหมอดินหมู่บ้าน จึงทำให้ได้ผลเงาะดีมีคุณภาพขาย มีรายได้พอเพียงให้ยังชีพได้มั่นคง

จากเรื่อง เงาะพันธุ์โรงเรียน?ผลไม้เศรษฐกิจคุณภาพจากเมืองน้ำขุ่น ถิ่นอีสานใต้ เป็นการจัดการใช้พื้นที่ปลูกเงาะพืชเสริมเพิ่มรายได้ที่ทำให้ยังชีพได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณลุงนิรันดร์ กำลังดี  เลขที่ 61 หมู่ที่ 6 บ้านรุ้งแสงจันทร์ ตำบลตาเกา อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี โทร.(093) 771-2352 หรือที่ คุณเสน่ห์ ในจิตร เกษตรอำเภอน้ำขุ่น โทร. (085) 479-9105 ก็ได้นะครับ

ขอบคุณ เทคโนโลยีชาวบ้าน

Leave A Response